
ครรภ์เป็นพิษ สาเหตุเกิดจากอะไร ใครเสี่ยงบ้าง พร้อมเช็กอาการเตือน
ในขณะที่การตั้งครรภ์ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน แต่สิ่งที่มาพร้อมความน่ายินดีนี้ เชื่อว่า คือความกังวลใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตลอด 9 เดือน อย่าง “ภาวะครรภ์เป็นพิษ” ซึ่งคุณแม่ทุกคนอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างจากคุณหมอผู้ดูแลเมื่อไปฝากครรภ์ แต่อาจจะยังไม่ทราบว่า หากระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่เสี่ยงครรภ์เป็นพิษ จะส่งผลต่อสุขภาพของตนเองและลูกน้อยอย่างไร
Precision ได้นำสาระดี ๆ ย่อยง่าย เกี่ยวกับ ภาวะครรภ์เป็นพิษที่อาจเกิดขึ้นในแม่ท้อง มาฝากกันค่ะ อยากรู้ว่า ครรภ์เป็นพิษ คืออะไร สาเหตุมาจากไหน ใครเสี่ยงบ้าง พร้อมอาการเตือนที่คุณแม่ต้องระวัง ไปอ่านกันในบทความนี้เลยค่ะ
บทความนี้ได้รับการตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์ โดยพญ.วัลลภา ไชยมโนวงศ์
รู้ไว้ระวัง! ครรภ์เป็นพิษ คืออะไร
อย่างที่ทราบกันดีว่า คุณแม่ตั้งครรภ์อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่างในช่วงตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ รกเกาะต่ำ และอีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนที่เราเคยได้ยินกันบ่อยครั้ง นั่นคือ ความดันโลหิตสูง ซึ่งคุณแม่บางท่านอาจมีความดันโลหิตสูงก่อนการตั้งครรภ์ หรือบางท่านมีความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์
ซึ่งอย่างหลังเราจะเรียกว่า ครรภ์เป็นพิษ หรือ Preeclampsia คือ ภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท (ความดันโลหิตที่ปกติ อยู่ที่ไม่เกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท) ร่วมกับมีไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ โดยอาการของคุณแม่ที่มีภาวะ Preeclampsia อาจแตกต่างกันออกไปตามความรุนแรงของโรค
สาเหตุภาวะครรภ์เป็นพิษ
ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่ระบุแน่ชัด แต่คาดว่า ครรภ์เป็นพิษ อาจเกิดจากการฝังตัวของรกผิดปกติ รกบางส่วนจึงขาดออกซิเจน ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงรกได้ไม่เพียงพอ จึงไปกระตุ้นการหลั่งสาร Arginine vasopressin ที่มีผลทำให้หลอดเลือดของคุณแม่หดตัว
ผลกระทบจากภาวะ preeclampsia
แน่นอนว่า หากคุณแม่ตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หรือครรภ์เป็นพิษ ต้องได้รับการรักษาและอยู่ในความดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากอาจเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ โดยความรุนแรงสามารถแบ่งได้ 3 ระดับ ดังนี้
- Non – Severe Pre – Eclampsia : ระดับที่ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนจากครรภ์เป็นพิษ
- Severe Pre – Eclampsia : ระดับที่คุณแม่ได้รับผลกระทบจาก preeclampsia อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ หลอดเลือดแดงตีบ เกล็ดเลือดต่ำ หรือตรวจพบไข่ขาว หรือโปรตีนในปัสสาวะ ความรุนแรงในระดับนี้ ส่วนมากแพทย์จะให้แอดมิทที่โรงพยาบาลเฝ้าระวังอาการ
- Eclampsia : คุณแม่ได้รับผลกระทบจากภาวะครรภ์เป็นพิษ ในระดับรุนแรง คือ มีอาการชักเกร็ง เจ็บหน้าอก สมองขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วคราว หากผู้ป่วยอยู่ในระยะนี้ ต้องรีบรักษาด่วนที่สุด เนื่องจากเสี่ยงเสียชีวิตได้ทั้งตัวคุณแม่และทารกในครรภ์
แน่นอนว่า ผลกระทบที่คุณแม่ได้รับตามระดับความรุนแรงของ Preeclampsia ตามที่กล่าวมา มีผลต่อทารกในครรภ์ตามมาเช่นกัน ได้แก่
- คลอดก่อนกำหนด
- น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
- พัฒนาการล่าช้าตั้งแต่ในครรภ์
- รกลอกก่อนกำหนด
- การเต้นของหัวใจผิดปกติ
- เสียชีวิตในครรภ์
กลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มีความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ
ภาวะความดันโลหิตสูง หรือครรภ์เป็นพิษ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่า มีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตสูง ได้แก่
- มีไขมันในเลือดสูง
- เป็นโรคอ้วนจากกรรมพันธุ์
- ดื่มแอลกอฮอร์
- สูบบุหรี่
- มีภาวะความเครียด
- อายุ 35 ปีขึ้นไป
- อายุน้อยกว่า 18 ปี
- ตั้งครรภ์ลูกแฝด
- ครอบครัวหรือตนเองมีประวัติครรภ์เป็นพิษ โรคหัวใจ ไทรอยด์ และหลอดเลือดสมองตีบ
คุณแม่กลุ่มดังกล่าว แพทย์ผู้ดูแลอาจให้คำแนะนำในการตรวจคัดกรองหาโรคอย่างละเอียด หลังซักประวัติและตรวจวินิจเบื้องต้น แล้วพบปัญหาใดปัญหาหนึ่ง เพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์
อ้างอิงข้อมูลจาก กองการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
ครรภ์เป็นพิษ สังเกตอาการได้อย่างไร
ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่พบความผิดปกติต่อไปนี้ แนะนำ รีบปรึกษาแพทย์ถึงอาการที่กำลังเป็นอยู่ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนชนิด Eclampsia หรือชนิดรุนแรง ที่มีผลกระทบถึงขั้นเสียชีวิตของตัวคุณแม่และลูกน้อย
อาการผิดปกติที่ต้องรีบพบแพทย์
- น้ำหนักเพิ่มผิดปกติ โดยอาจเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละมากกว่า 1 กก.
- ตัวบวม โดยเฉพาะที่เท้า มือ เปลือกตา กดแล้วมีรอยบุ๋ม
- ปวดศรีษะอย่างรุนแรง ทานยาแล้วไม่ดีขึ้น
- รู้สึกว่าทารกดิ้นเบา
- วัดความดันได้มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท
- มองอะไรไม่ค่อยชัด
- มีอาการหายใจลำบาก จุกแน่นใต้ชายโครง
ตรวจคัดกรอง รู้ทันครรภ์เป็นพิษ
ระยะแรกของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษในคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่อาจจะยังสังเกตอาการได้ไม่ชัดเจน หรือบางอาการเสี่ยงที่เราได้แนะนำไปข้างต้น อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ที่อาจไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงในระหว่างตั้งครรภ์ แนะนำว่า ไม่ต้องกังวลจนเกินไป เนื่องจากคุณแม่ที่เข้ารับการฝากครรภ์ จะได้รับการตรวจเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
- ความดันโลหิต
- ระดับโปรตีนหรือไข่ขาวในปัสสาวะ
- การไหลเวียนเลือด
ซึ่งหากมีแนวโน้มว่า เจอปัญหาใดปัญหาหนึ่ง หลังจากตรวจเบื้องต้น ร่วมกับซักประวัติ แพทย์จะให้คำแนะนำต่อการเฝ้าระวัง และตรวจอย่างละเอียดต่อไป เพื่อป้องกันครรภ์เป็นพิษในระยะรุนแรง หรือ Eclampsia
รักษาอย่างไร เมื่อตรวจพบ Preeclampsia ในระหว่างตั้งครรภ์
กรณีที่แพทย์พิจารณาว่า คุณแม่มีอาการไม่ได้รุนแรง อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลตนเองด้วยการเลี่ยงอาหารรสจัด จัดการความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ และคอยหมั่นเช็กความผิดปกติอย่างอาการปวดศรีษะ จุกแน่นหน้าอก ตาพร่ามัว และมีการวัดความดันโลหิตต่อเนื่อง เพื่อลดระดับความดันโลหิต ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
กรณีที่แพทย์พิจารณาแล้วว่า คุณแม่มีภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง จำเป็นต้องแอดมิทที่โรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาโดยการให้ยา และเฝ้าระวังอาการที่ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างใกล้ชิด เช่น หลอดเลือดในสมองแตก ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ซึ่งในรายที่มีอายุครรภ์ใกล้คลอด แพทย์อาจแนะนำให้เร่งคลอดหรือผ่าคลอด หรือในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนในเด็ก หรือคุณแม่มีอาการชัก แพทย์อาจแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งการรักษาตามที่กล่าวมา อาจขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล และดุลพินิจในการรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ลดความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกน้อย
พฤติกรรมบางอย่างของคุณแม่ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์ จนเกิดครรภ์เป็นพิษได้ค่ะ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง และการดูแลตนเองในระหว่างตั้งครรภ์ ก็อาจลด เลี่ยงอันตรายจากครรภ์เป็นพิษได้ค่ะ ซึ่งเรามีทริคการดูแลตนเองเล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากคุณแม่กันค่ะ
- ไปฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ
- พบอาการผิดปกติ ปรึกษาแพทย์ทันที ไม่รีรอ
- เลี่ยงอาหารรสจัด ไขมันสูง
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อคนท้อง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รู้สึกเครียด กังวล ควรพูดคุยกับคนใกล้ชิด หรือหางานอดิเรกทำ
- ออกกำลังกายเบา ๆ
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- งดสูบบุหรี่
เราเชื่อว่า ทุกครอบครัวไม่พึงปรารถนาให้ทารกในครรภ์มีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง จนถึงขั้นจะต้องยุติการตั้งครรภ์ การวางแผนดูแลสุขภาพ และเช็กความผิดปกติของทารกในครรภ์อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เพื่อคัดกรองความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือคัดกรองดาวน์ซินโดรม ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลยนะคะ เพราะส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและสมองทารกที่ผิดปกติ
ดังนั้น หากคุณแม่เป็นกังวลถึงความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ สามารถปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเมื่อไปฝากครรภ์ได้เลยค่ะ และหากเป็นกังวลเกี่ยวกับความผิดปกติของทารกในครรภ์ อย่างกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม แนะนำตรวจนิฟ ตรวจนิฟตี้ ราคาเริ่มต้นเพียง 8,900 บาท ตรวจได้ครอบคลุมโรคพันธุกรรมที่พบบ่อย ซึ่งคุณแม่สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ สนใจปรึกษาแพทย์กับเราได้ที่ Line ID : @PrecisionNIPS หรือ โทร 098-269-2368
บทความแนะนำ
- ตรวจอัลตร้าซาวด์ ดาวน์ซินโดรม ความหนาต้นคอเกี่ยวข้องกันอย่างไร
- เจาะ quad test ตรวจดาวน์ซินโดรม รู้เพศลูกไหม ราคาเท่าไหร่
- ตรวจ NIPT คืออะไร ทำไมต้องเลือกตรวจแบบ NGD NIPS
- ตรวจวินิจฉัย ตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม ต่างอย่างไร เลือกแบบไหนดี