
รู้จักกับเด็กดาวน์ซินโดรม ดูแลอย่างไร ให้มีร่างกายและพัฒนาการดี
เชื่อว่า แม่ทุกคนย่อมอยากให้ลูกมีสุขภาพดี แข็งแรง สมบูรณ์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่ทว่าบางครั้ง สิ่งเหล่านี้เราอาจควบคุมไม่ได้ด้วยปัจจัยทางพันธุกรรม หรือที่เรียกกันว่า โรคทางพันธุกรรมอย่างเช่น โรคดาวน์ซินโดรม ซึ่งถูกตรวจพบว่า เป็นหนึ่งโรคเกี่ยวกับโครโมโซมผิดปกติที่พบบ่อยมากที่สุดในคุณแม่ตั้งครรภ์ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือหากคุณแม่ตรวจพบความเสี่ยงดาวน์ จะต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง และมีวิธีดูแลเด็กดาวน์อย่างไร ให้เขาใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้
บทความนี้ได้รับการตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์ โดยพญ.วัลลภา ไชยมโนวงศ์
โรคดาวน์ซินโดรมเกิดจากอะไร รักษาได้ไหม
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า โรคดาวน์ซินโดรม เป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากมีสาเหตุเกิดจากภาวะโครโมโซมผิดปกติตั้งแต่กำเนิด โดยมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง ทำให้เด็กที่เกิดมาเป็นดาวน์ซินโดรม มีร่างกายและสติปัญญาผิดปกติต่างจากเด็กทั่วไป
โดยอาการดาวน์ที่เด่นชัด เช่น หน้าแบน ศีรษะเล็ก ตาเรียว ดั้งจมูกแบน แขนขาสั้น และมีภาวะสติปัญญาล่าช้า สมาธิสั้น หรือออทิสติกร่วมด้วย ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่มีวิธีรักษาและป้องกัน มีเพียงการดูแลเด็กดาวน์ให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ในเบื้องต้น และมีพัฒนาการที่ดีขึ้น
ซึ่งความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ทารกดาวน์ซินโดรม สามารถเกิดขึ้นได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกช่วงวัย แต่ครอบครัวที่มีประวัติเป็นดาวน์ซินโดรมหรือคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงลูกเป็นดาวน์ซินโดรมมากขึ้น
ปรึกษาความเสี่ยงตั้งครรภ์ดาวน์กับแพทย์ได้ที่นี่
ตรวจดาวน์ซินโดรมได้ตอนอายุครรภ์เท่าไหร่
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมตั้งแต่ในครรภ์ ไม่ต้องรอลุ้นหลังคลอดว่าลูกจะเกิดมาผิดปกติหรือไม่ ซึ่งวิธีตรวจดาวน์ซินโดรม มีหลากลายวิธีด้วยกันให้คุณแม่เลือกตรวจ เช่น การเจาะน้ำคร่ำ การเจาะเลือดตรวจ NIPT และการอัตร้าซาวน์ ซึ่งทั้ง 3 วิธี ตรวจได้ตอนอายุครรภ์ ดังนี้
- การเจาะน้ำคร่ำ เป็นการวินิจฉัยโครโมโซมผิดปกติ ตรวจได้ตอนอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์
- ตรวจเลือดดาวน์ซินโดรม ด้วยวิธีตรวจ NIPT เป็นการคัดกรองดาวน์ซินโดรม ตรวจได้ตอนอายุครรภ์ 10-20 สัปดาห์
- อัตร้าซาวน์ วัดความหนาของต้นคอ เป็นการคัดกรองดาวน์ซินโดรม ตรวจได้ตอนอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์
สนใจตรวจ NIPS ปรึกษาแพทย์ได้ที่นี่
ตรวจพบเสี่ยงดาวน์ดาวน์ซินโดรมสูง ทำอย่างไรดี
เชื่อว่า คุณแม่บางท่านอาจจะได้รับการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม ไม่ว่าจะเป็นตรวจ NIPT หรือเจาะน้ำคร่ำ แล้วพบผลตรวจเป็นบวก ซึ่งหมายความว่า ลูกเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรม เชื่อว่า คุณพ่อและคุณแม่ต้องเกิดภาวะกังวลใจหรือความเครียดตามมาได้แน่นอน
หากคุณแม่พบความเสี่ยงดาวน์สิ่งที่แนะนำอันดับแรกเลยคือการปรึกษาคุณหมอ เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน ในขณะเดียวกันรู้สึกอย่างไรควรระบายให้ซึ่งกันและกันฟัง หรือพูดคุยกับคนในครอบครัวให้มากขึ้น ไม่ควรเก็บไว้คนเดียว หรือจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก็ได้เช่นกัน และควรให้กำลังใจซึ่งกันและกันทั้งสามีและภรรยา
อย่างไรก็ตามแม้ว่า ลูกจะเกิดมาเป็นเด็กดาวน์ซินโดรม แต่คุณพ่อคุณแม่และผู้เชี่ยวชาญ ก็สามารถดูแลเขาให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ เพียงแต่ต้องให้โอกาส และใช้เวลาในการฝึกฝนพัฒนาการด้านต่าง ๆ เมื่อเขาได้รับการฝึกฝนและการดูแลเอาใจที่ดีจากคนรอบข้าง เด็กดาวน์ก็จะสามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุขเช่นกันกับคนปกติทั่วไป
วิธีเตรียมพร้อมดูแลกลุ่มอาการดาวน์
ก่อนอื่นผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจว่า เด็กดาวน์จะมีร่างกายและสติปัญญาที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ดังนี้
ด้านร่างกาย
มีลักษณะคอ จมูกสั้น ใบหน้าแบน และควบคุมกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้ไม่ค่อยดี ทำให้มีปัญหาในการชันคอ นั่ง ยืน เดิน
ด้านสติปัญญา
ส่วนมากเด็กกลุ่มอาการดาวน์ จะมีสมาธิสั้น ออทิสติกร่วมด้วย มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ต่ำกว่าเด็กทั่วไป โดยเฉลี่ยกลุ่มอาการดาวน์ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น จะเทียบกับเด็กอายุ 8-9 ปี
ภาวะแทรกซ้อน
อาทิ โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ท้องผูก โรคซิลิแอค โรคหัวใจ และติดเชื้อที่ปอด หู หลอดลม ต่อมทอมซิลได้ง่าย หรือมีอาการแก่ก่อนวัย มีปัญหาด้านความจำ หรือมีอาการอัลไซเมอร์ ซึ่งดาวน์ซินโดรมอายุเฉลี่ยประมาณ 10-25 ปี แต่ปัจจุบันดาวน์ซินโดรมอายุเฉลี่ย 40 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับสุขภาพ และการดูแลของแต่ละรายบุคคล
ปัญหาพฤติกรรม
สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ได้ให้ความรู้ไว้ว่า ปัญหาพฤติกรรมในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ที่มักพบจากการรายงานโดยผู้ปกครองและครูในชั้นเรียน มีดังนี้
- เดิน หรือวิ่งเรื่อยเปื่อย ทำให้เกิดอันตรายได้
- ดื้อ หรือมีพฤติกรรมต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง ทำให้คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครู หรือผู้ปกครองหงุดหงิดได้
- มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการแสดงออกทางความรัก ความชอบ เช่น แสดงการทักทายคนแปลกหน้า โดยการเข้าไปกอด
- ปัญหาทางด้านสมาธิ และความสนใจ
- มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ
- เด็กกลุ่มอาการดาวน์บางคนทำเสียงประหลาดหรืออมมือ ซึ่งพฤติกรรมนี้ทำให้ขัดขวางการเรียนรู้ และแยกตัวออกจากสังคม
อาการดาวน์ซินโดรมอาจมีเพียงอาการใดอาการหนึ่งก็ได้ หรือเป็นร่วมกัน และความรุนแรงของอาการอาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับรายบุคคล
ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การดูแลเด็กดาวน์ซินโดรม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย อาทิ ผู้ปกครอง คนในครอบครัว บุคคลรอบข้างในสังคม บุคลากรทางสาธารณสุข คุณครู และผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เรียนรู้วิธีดูแลเอาใจใส่ทั้งร่างกายและจิตใจ
เด็กกลุ่มอาการดาวน์จะมีพัฒนาการตามวัย เช่นเดียวกันกับเด็กทั่ว ๆ ไป แต่อาจมีความล่าช้ากว่า ซึ่งการกระตุ้นพัฒนาการเด็กดาวน์ซินโดรม ในช่วงอายุ 2 เดือน ถึง 2 ปีแรก เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยพัฒนาศักยภาพเด็กดาวน์ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ควรฝึกให้เขาได้ช่วยเหลือตนเอง เช่น ฝึกทักษะการทรงตัว ฝึกรับประทานอาหารด้วยตนเอง จะทำให้เด็กมีพัฒนาการเหมาะสมตามศักยภาพ สามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน และอย่าลืมที่จะพาเด็กดาวน์ไปตรวจสุขภาพกับแพทย์เป็นประจำ แต่หากพบความผิดปกติไม่ควรรีรอ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มอาการดาวน์
พบปัญหาพฤติกรรมควรขอความช่วยเหลือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
หากสังเกตเห็นพฤติกรรม ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ผู้ปกครองควรทำ ดังนี้ 1.พาเด็กไปตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ว่ามีพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดปัญหาหรือไม่ 2.ค้นหาความเครียดทางจิตใจทั้งในที่บ้าน และโรงเรียน 3.ทำการปรึกษากับนักจิตวิทยา กุมารแพทย์ทางด้านพฤติกรรม นักให้คำปรึกษาในการวางแผนแก้ไขปัญหาพฤติกรรม 4.พบแพทย์เพื่อทำการรักษาด้วยยา อาจต้องใช้ในกรณีที่จำเป็น เช่น อยู่ในกลุ่มสมาธิสั้น และออทิซึม
ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
นอกจากช่วยกันดูแลเด็กดาวน์แล้ว คุณพ่อคุณแม่เองก็อย่าลืมดูแลสุขภาพใจของตนเองด้วยเช่นกัน ควรให้กำลังใจซึ่งกันและกันในการเลี้ยงดูลูก พยายามมองด้านดี ๆ ของเด็กดาวน์ เพราะเด็กกลุ่มนี้มักจะเป็นเด็กที่มีอารมณ์ดี ร่าเริง หากมีความกังวลใจ หรือเกิดความเครียดที่รู้สึกรับมือเองไม่ได้ ควรระบายให้กันและกันฟัง หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
สิ่งสำคัญที่สุด เมื่อรู้ว่าลูกเป็นดาวน์ อย่าท้อแท้ สิ้นหวัง หรือ หมดกำลังใจ พ่อแม่ต้องมีพลังใจที่เข้มแข็ง อดทน และให้ความรัก ดูแลเอาใจใส่เขาเหมือนเด็กคนอื่น ๆ เชื่อว่าเด็กดาวน์จะสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้กำลังใจและอยู่เคียงข้างเขา
สำหรับคุณแม่ที่ยังไม่ได้รับการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม เราจึงอยากแนะนำคุณแม่ทุกช่วงวัย รับการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม หากตรวจพบคววามเสี่ยง จะได้วางแผนดูแลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและเช็กความพร้อมของตนเองตั้งแต่เนิ่น ๆ สนใจคัดกรองดาวน์ ปรึกษาแพทย์กับเราได้ที่ Line ID : @ PrecisionNIPS หรือโทร : 098-269-2368 ผู้เชี่ยวชาญยินดีให้คำปรึกษาเบื้องต้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย